Thursday, November 7, 2013

Come Together

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา อาจารย์รู้สึกมีความสุขเล็กๆ กับการได้เห็นแบรนด์กาแฟที่ชื่นชอบ Starbucks ออกมารณรงค์ ให้ชาวอเมริกันหยิบยื่นน้ำใจให้แก่ผู้อื่น โดยการซื้อเครื่องดื่มให้กับลูกค้ารายอื่น แล้ว Starbucks จะตอบแทนด้วยการให้เครื่องดื่มแก่คุณ ฟรี! (http://www.starbucks.com/promo/come-together)


Come Together
ที่มา : http://www.starbucks.com/promo/come-together

แม้จะมีคนมองว่าสิ่งที่ CEO ของ Starbucks ทำ ก็ไม่ต่างอะไรกับโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 และยังคงมุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่ดีก็ตาม แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบความคิดของ CEO คนนี้มาก...ถ้าคนเราคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นก่อนประโยชน์ของตน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นก่อนตัดสินด้วยความคิดของตน หยิบยื่นสิ่งดีให้แก่คนอื่นบ้างแทนที่จะกักเก็บไว้กับตัว...สังคมเราคงจะน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้เยอะเลย

วันนี้ มาร่วมกันหยิบยื่นสิ่งดีๆ ซัก 1 อย่างให้กับคนรอบข้างกันเถอะ และคุณจะพบว่า "
การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ



Monday, March 18, 2013

Surprised and Proud




ในภาคเรียนที่ 2/2555 นี้ อาจารย์ได้รับประสบการณ์หนึ่งที่แสนจะประทับใจ จากสอนในรายวิชา การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ให้กับนิสิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา ชั้นปีที่ 3 ภายใต้รั้วมศว (#endu) แห่งนี้ เพราะนอกเหนือจากการได้เห็นนิตยสารที่สุดยอด (#awesome) ทั้งเก้าเล่มนี้แล้ว สิ่งที่ภูมิใจ ประทับใจ และถือเอาเป็นความสำเร็จของการสอนในรายวิชานี้ก็คือ การได้เห็นนิสิตทั้งหลาย...
(อาจารย์ถือโอกาสนี้นำชื่อนิตยสารมาสอดแทรกไว้ในเนื้อหา เพื่อให้คุณผู้อ่านคลิกเข้าไปเยี่ยมชมนิตยสารแต่ละเล่มได้เลยค่ะ)
  • พัฒนาความรู้ ความสามารถและศักยภาพในการทำงานมากขึ้น จากเดิมนิสิตอาจไม่เคยรู้ว่าความสามารถของตนเองและเพื่อนในกลุ่มจะสามารถทำงานชิ้นนี้ให้ออกมาแตกต่างอย่างมีคุณค่าและประสบความสำเร็จได้อย่างไร นิสิตไม่เคยเขียน ไม่เคยลงโปรแกรม ไม่เคยต้องไปหาข้อมูลเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่เคยรู้ว่ากว่าที่จะลงมือเขียนบทความซักหนึ่งเรื่อง ต้องหาข้อมูล หาแรงบันดาลใจ แล้วต้องลงมือเขียนๆ เกลาๆ ซักกี่รอบถึงจะเพียงพอ และอาจไม่เคยรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว เมื่อนิสิตได้คิด ได้พยายาม ได้ลงมือทำ นิสิตก็มีความสามารถ นิสิตทำได้ และทำได้อย่างดีเยี่ยม นิสิตได้พาตัวเองก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ (#curve) ที่มีต่อตนเอง ได้ค้นพบและรับรู้ความสามารถของตนเองและเพื่อนในกลุ่มมากขึ้นในมุมที่ไม่เคยเห็นหรือเคยรับรู้มาก่อน
  • พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้การลงมาคลุกชีวิตร่วมกัน (#mash)ในกลุ่มซึ่งนิสิตไม่ได้เลือกเอง แม้ในระยะแรกๆ จะมีเสียงบ่นต่อว่าต่อขานกันมากมาย แต่ท้ายสุดนิสิตก็ได้เรียนรู้ว่าในการทำงานกับกลุ่มที่เราไม่คุ้นเคย (ซึ่งในชีวิตจริงนิสิตต้องได้พบเจอแน่นอนนั้น) จะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้งานที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ นอกจากนั้นนิสิตยังได้รู้ว่า การทำงานกลุ่มนั้น ไม่ใช่แค่นิสิตต้องทำในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น แต่จำเป็นต้องช่วยเหลือและเกื้อกูลเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ เพื่อให้งานในภาพรวมออกมาดีที่สุด นิสิตหลายคนเห็นเพื่อนเหนัก ก็อาสาช่วยเพื่อน นิสิตบางคนเห็นเพื่อนเก่งทำนู้นนี่ได้ ก็ทดลองฝึกหัดทำหัดเรียนรู้มั่งจนตัวเองทำได้ในที่สุด ซึ่งอาจารย์ดีใจมากที่ลูกศิษย์แต่ละคนได้รับการพัฒนาจากการทำงานเป็นทีมเช่นนี้
  • พัฒนาทักษะในการเข้าถึง สืบค้น เลือกและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานกลุ่มร่วมกันได้อย่างหลากหลาย ลื่นไหล เนื่องจากสมาชิกในแต่ละกลุ่มบ้านอยู่ห่างกันคนละทิศ อีกทั้งเวลาตารางการทำงานของแต่ละคนก็ไม่ตรงกัน แต่การใช้ group ใน Facebook หรือ Skype เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และติดตามความก้าวหน้าของกันและกันอย่างกับแฟนพันธุ์แท้นี้ ช่วยนิสิตได้มากสุดๆ นอกเหนือจากนั้นนิสิตยังได้เรียนรู้ที่จะขยับ (#move) จากการเป็นผู้รับ ซึ่งหยิบยืมสาระความรู้ที่เผยแพร่ไว้มาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน แต่เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปันสาระความรู้ และข้อคิดดีๆ ที่ตนได้รับออกไปให้กับผู้คนในสังคมผ่านทาง YouTube และ Blog อีกด้วย
  • ได้เรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน ในการไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากบุคคลและสถานที่จริงว่า ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า และมีความแตกต่าง ซึ่งนอกเหนือจากที่นิสิตได้เรียนรู้ถึงธีคิด มุมมอง ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของเค้าเหล่านั้นแล้ว นิสิตยังต้องนำคุณค่าเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่านได้รับรู้ เรียนรู้ และก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจต่อผู้อ่านได้ในที่สุด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า นักเขียนฝึกหัดของอาจารย์สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจจริงๆ (#amaz)
  • เป็นวัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดียิ่งขึ้น เพราะกว่าจะทำงานให้ออกมาเสร็จได้แต่ละหน้าแต่ละตอนนั้น นิสิตต้องได้ยินเสียงบ่นว่า เสียงจิกกัด เสียงหัวเราะ ได้พบกับความเงียบแบบมาคุ หยาดเหงื่อ รอยยิ้ม รอยเหี่ยวย่น ขอบตาคล้ำ หิวโซ พุงกาง สารพัดอารมณ์ความรู้สึก (#emos) ที่ได้รับจากกันและกัน นิสิตจึงต้องเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อจะให้ปัญหาและอุปสรรคที่พบเจอในแต่ละเวลานาทีผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ทะเลาะกัน รักกัน และให้อภัยกันมากขึ้น 
สุดท้าย อาจารย์หวังใจว่า นิสิตที่รักของอาจารย์จะเป็นให้ได้ "มากกว่า" (#more than) ที่คิดว่าตัวเองเป็นได้ ดังเช่น พี่เหน่ง ชายพิการผู้ให้ข้อคิดว่า "ถ้ามัวแต่คิดว่าตัวเองพิการแล้วจะทำอะไรได้ เพียงแค่ใจสู้บวกกับความพยายาม ความพิการก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป" (#อารัญ) ขอให้นิสิตประสบความสำเร็จในทุกเรื่องที่สู้และเพียรพยายาม

ป.ล. ข้อมูลจากการเขียนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์นิสิตทุกคน และจากการอ่านบล็อกที่นิสิตแต่ละคนได้เขียนถ่ายทอดไว้ ขอขอบคุณนิสิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา รุ่น 15 ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ



Thursday, January 31, 2013

Homework, Is it good or bad for the children?

ทุกวันนี้เราเห็นความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เราเห็นการรวมกลุ่มของประเทศเขตเศรษฐกิจต่างๆ เราเห็นการไหลบ่าทางวัฒนธรรม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม...รอบๆ ตัวเราล้วนมีแต่การเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่เราแทบจะไม่ทันได้ตั้งตัวแทบทั้งนั้น...แต่สาระสำคัญและนโยบายเร่งด่วนของการศึกษาไทยกลับมุ่งเน้นและให้ความสำคัญไปที่ “ทรงผม” กับ “การบ้าน” ???

(ดังปรากฏเป็นข่าวฮือฮาเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมานั้น http://www.thairath.co.th/content/edu/323389 )

ขอไม่แสดงความคิดเห็นนะคะ แต่จะขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่มีส่วนในการให้ "การบ้าน" ร่วมกัน "ออกแบบการบ้าน" ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้…

  •  “ความคิด” ในการแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ชิ้นงานจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตนเองมีร่วมกับเพื่อนผู้เรียนคนอื่นๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด สาระความรู้ และแหล่งข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน
  •  “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ สื่อสาร และเผยแพร่ ความคิด ความรู้ หรือชิ้นงานได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 
เพื่อ “การบ้าน” ที่เราให้เด็กทำนั้น จะได้พัฒนาให้เค้ามีทักษะในการคิด การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนช่วยให้เค้าได้รู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม พร้อมสำหรับอยู่ในสังคมที่มีแต่การเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างมีความสุข

อย่างน้อยๆ นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ในทันที ณ บัดนี้ โดยไม่ต้องรอ "นโยบาย" ค่ะ